วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

8 เทรนด์ค่านิยมผู้บริโภค 58

8TREND2015---CONTENT

 1.รวยลัด หรือ Richficiency (Rich+Sufficiency)

ผู้บริโภคGen Y ไม่ได้เกิดมาในยุคที่ต้องรอคอยไม่เหมือนคนรุ่นก่อนที่มีความอดทนสูง จึงมีนิสัยขี้ใจร้อน ขี้หงุดหงิดรอทนอะไรนานๆ ไม่ได้ เพราะเทคโนโลยีสามารถทำทุกอย่างได้ตลอด 24 ชั่วโมง จึงมีค่านิยมไม่ยอมอดทนกับสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ หรือรู้สึกไม่ใช่ เพราะผู้บริโภคกลุ่มนี้มีความเป็นตัวของตัวเองสูง และต้องการรวยด้วยตัวเอง หรือรวยทางลัด แบบไม่ต้องทำงาน มีความต้องการทำงานในออฟฟิศน้อยลง ความอดทนและเอาจริงเอาจังก็น้อยลงเช่นกัน
ด้วยพฤติกรรมเหล่านี้ พวกเขาจึงนิยมรวยทางลัดด้วยการเล่นหุ้นเป็นหลัก โดยผลสำรวจพบว่านักลงทุนรุ่นใหม่ มีอายุเริ่มต้นเฉลี่ยน้อยลงอยู่ที่ 20 ปี จากในยุคเบบี้บูมเมอร์ที่มีอายุเริ่มต้นเฉลี่ย 27ปี ซึ่งพฤติกรรมนี้สอดคล้องกับหนังสือขายดี 2 หมวดใหญ่ในร้านหนังสือส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือเคล็ดลับที่ทำให้รวย และหนังสือแนวแรงบันดาลใจสู่ความสำเร็จ
ด้วยความต้องการรวยแบบกินอยู่สบาย ใช้เงินปรนเปรอ ตัวเองได้สบายแบบไม่ต้องทำงานหนัก ไม่เครียด จึงทำให้อัตราคนทำงานที่บ้านเพิ่มขึ้น และเป็นนายตัวเองมากขึ้น จะพบว่าในงาน Money Expo ที่ผ่านมา มีผู้เยี่ยมชมงานเพื่อศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นมากกว่าปีที่ผ่านมาๆ และการเติบโตของเว็บไซต์ บล็อกเกี่ยวกับการลงทุน และยังมีแบบอย่างประสบความสำเร็จของเน็ตไอดอลที่เป็นนักลงทุนรุ่นเยาว์ให้เห็นเป็นจำนวนมาก

2.งามภายนอก หรือ Exthetic (External+ Aesthetic)

คำว่าสวยจากภายในไม่มีมนต์ขลังอีกต่อไปในยุคนี้ เพราะค่านิยมของผู้บริโภคยุค 2558 ไม่ค่อยเห็นคุณค่าของความงามภายใน แต่นิยมเรื่องความงามภายนอกที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นมากกว่า เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในสังคม มีผลต่อบทบาทในหน้าที่การงาน และความสำเร็จ
จะเห็นได้ว่าเทรนด์นี้ยังผลักดันให้สถานบันความงามเติบโตอย่างก้าวกระโดด ความนิยมถ่ายภาพเซลฟี่ด้วยตัวเอง และตกแต่งแอพพลิเคชั่นเสริมแต่งรูปภาพ โดย 58% ของผู้ถูกสำรวจนิยมแต่งรูปให้ดูดีเกินจริงก่อนโพสต์ทุกครั้ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองยิ่งเป็นการปลูกฝังให้ผู้บริโภคเห็นความงามจากภายนอกมากขึ้น แทนที่จะมาพัฒนาความรู้ความสามารถ พัฒนาความงามจากภายในเหมือนที่ผ่านมาก

3.ช่วยเหลือตัวเอง (ไม่พึ่งพา) หรือ YELP (Help Yourself)

ด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่นแอพพลิเคชั่นค้นหาเส้นทาง ไม้ถ่ายรูปเซลฟี่ 3D Printing เทคโนโลยีที่ให้พรินต์สิ่งของที่ต้องการได้ด้วยตัวเองไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า โดยไม่ต้องไปร้านค้า และการที่อยู่กับโซเชียลเน็ตเวิร์คมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในโลกแห่งความจริงน้อยลง และเกิดพฤติกรรมแปลกแยกจากสังคมโดยไม่รู้ตัว
ด้วยการที่สามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง มีปฏิสัมพันธ์กับคนที่น้อยลงทำให้เด็กรุ่นใหม่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง มั่นใจว่าจะช่วยตัวเองได้ จึงมีความแข็งกระด้างในตัวเอง จากในอดีตที่ต้องปรึกษาพ่อแม่ เป็นการปรึกษา ค้นหาข้อมูลใน Google แทน
เมื่ออยู่กับเทคโนโลยีมากขึ้น มีปฏิสัมพันธ์กับคนน้อยลง จึงเกิดค่านิยมแคร์ความรู้สึกกันน้อยลง ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง เอาความต้องการตัวเองเป็นใหญ่ ติดนิสัยชอบเขียนแสดงออกทางโซเชียล เพราะในทางจิตวิทยาแล้วคนจะแสดงออกมีความกล้าน้อยเมื่อต้องเผชิญหน้า จึงเห็นการแสดงออกทางความคิด การประท้วงทางโลกออนไลน์มากขึ้น

4.ไม่ผูกมัด หรือ Nobliglation (No+Obliglation)

สังคมก้มหน้า เป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนว่า “อย่ามายุ่งกับฉัน หรือ ฉันไม่อยากคุยกับใคร ขออยู่คนเดียว” แต่ในทางกลับกันคนกลับอยู่กับในสังคมออนไลน์ พูดคุย รับเพื่อนใหม่อย่างง่ายดาย เพราะมองว่าไม่ต้องผูกมัดทางกายภาพ หรือรับผิดชอบใดๆ ในการคบหาทางออนไลน์
จะเห็นได้ว่าเมื่อผู้บริโภคติดนิสัยการแสดงออกอย่างอิสระเสรีบนโลกออนไลน์ จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะรักอิสระมากขึ้น ไม่ชอบถูกบังคับ จนเกิดอัตราการหย่าร้าง การแยกกันอยู่มากขึ้น รวมถึงการแยกตัวออกจากครอบครัวมาใช้ชีวิตคนเดียว ด้วยจากซื้อคอนโดแนวรถไฟฟ้าที่มีราคาไม่สูงมากเพื่ออาศัย
ตลอดจนพฤติกรรมของพวกเขาเหล่านั้นยังไม่ชอบอยู่กับอะไรเดิมๆ นานๆ จากการถูกกระตุ้นด้วยข้อมูลใหม่ๆ ตลอดเวลา คนในยุคนี้จึงเป็นคนที่ต้องการสิ่งเร้าเสมอ และต้องการมีตัวตนในโลกออนไลน์ มุ่งหาประสบการณ์แปลกใหม่ ให้มีเรื่องเล่า เรื่องแชร์อยู่เสมอ การผูกมัดกับเรื่องเดิมๆ จึงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคยุคใหม่ไม่ชอบ อย่างกองทุน RMF จะเป็นกองทุนที่ได้รับความนิยมกว่า LMF ถึงแม้ว่าจะหักภาษีได้เหมือนกัน แต่ระยะเวลากองทุน RMF สั้นกว่า LMF ที่ได้ผลตอบแทนระยะยาว

5. เปิดเผย ชัดเจน อย่าปิดบัง หรือ Sinclear (Sincere + Clear)

ทุกวันนี้ข้อมูลหาได้ง่าย สืบได้ง่าย อะไรจริงหรือหลอก การแสดงความจริงใจ คือสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ เพราะสังคมทุกวันนี้เป็นสังคมของความหวาดระแวง ระวังมากขึ้น เพราะกลัวถูกเปิดเผยได้ง่ายๆ เพียงคลิกแชร์เท่านั้น เพราะบริโภคยุคใหม่ชอบแสดงออกในโลกออนไลน์ เมื่อพวกเขาพอใจหรือไม่พอใจอะไร จะคอมเมนต์ออกมาดังๆ บนโลกออนไลน์ทันที
รวมถึงการเชื่อการรีวิวมากกว่าแบรนด์หรือโฆษณาที่ถูกปรุงแต่งมาแล้วเพราะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่แบ่งปันมาจากประสบการณ์จริง
เมื่อเป็นเช่นนี้แบรนด์จึงต้องมีความจริงใจ มุ่งเน้นที่จะใส่ใจผู้บริโภค เมื่อสื่อสารถึงกลุ่มเป้าหมายจะต้องทำให้ได้ตามที่ได้กล่าวไว้ เช่นแบรนด์โดฟที่พิสูจน์ว่าผมแข็งแรงจากการนำผมมาทำเป็นคันชักไวโอลินเป็นต้น หรือห้องน้ำสุวรรณภูมิที่มีให้ผู้ใช้บริการกดแสดงความพอใจในการใช้บริการ จะเห็นได้ว่าเทรนด์นี้ทำให้แบรนด์หันมาทำ CSR เป็นคนดีเพื่อสังคมมากขึ้นเพื่อซื้อใจผู้บริโภคมากขึ้น

6. วัฒนธรรมเดียวกัน หรือ Blendso (Blended + Society)

จากการสื่อสารในโลกโซเชียลที่ไปได้ทุกที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถรับรู้ข่าวสารแบบเดียวกัน เท่าทันกัน ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์ ค่านิยม และแฟชั่น จนเรียกได้ว่าคนทั่วโลกมีวัฒนธรรมเดียวกัน แต่การมีวัฒนธรรมเดียวกันนี้เอง ก็เป็นผลร้ายในสังคมเพราะคนรุ่นใหม่อาจไม่สานต่อวัฒนธรรม ประเพณี ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน เพราะไม่ได้เติบโตมาในสังคมที่บ่มเพาะมาด้วยวัฒนธรรม ประเพณีที่คนรุ่นก่อนยังสืบสาน พวกเขาเติบโตมากกับคำว่าวัฒนธรรมเดียวกัน จากโลกไร้พรหมแดน เช่นแคมเปญ Ice bucket Challenge ที่กลายเป็นกระแสโลกในเวลาเพียงไม่นาน เป็นต้น

7.มาตรฐานสูง หรือ Suppergenic (Super + Genic)

เมื่อแบรนด์แข่งขันสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภค ทุกวันนี้ผู้บริโภคจึงมามาตรฐานที่สูงขึ้น โดยเฉพาะความรู้สึก ความต้องการที่จะได้รับบริการดีๆ และจะได้ยินผู้บริโภคยุคใหม่พูดคำว่าพนักงานที่ให้บริการไม่มี Service mind อยู่เสมอ
การมีมาตรฐานสูงของผู้บริโภคนี้เอง เป็นสิ่งที่แบรนด์ควรระวัง ใครจะเชื่อหละว่า มีผู้บริโภคมากถึง 68% บอกลาแบรนด์ที่ใช้ประจำเนื่องจากไม่พอใจด้านบริการมากกว่าตัวผลิตภัณฑ์ และ 55% ยอมจ่ายเงินสูงขึ้น เพื่อให้มาซึ่งบริการที่ดีขึ้น

8.ซื้อน้อยแต่ได้เยอะ หรือ Easemore (Easy + More)

จากเทคโนโลยีได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคคุ้นชินกับการมีดีไวซ์เพียง 1 ชิ้นสามารถทำได้ทุกอย่าง เช่นสมาร์ทโฟนที่ใช้งานทั้งติดต่อสื่อสาร สมุดบันทึก ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม ถ่ายรูป และเป็นกระเป๋าสตางค์ส่วนตัว ผู้บริโภคจึงคาดหวังว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆ จะสามารถใช้งานได้มัลติฟังก์ชั่นเช่นกัน

ที่มา: http://marketeer.co.th/2014/12/8-trend/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น